วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

รร.พธ.พธ.ทร.กับการจัดการศึกษาเฉพาะทาง

บทความพิเศษเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนพลาธิการ
(26 มิ.ย. 51)
  • เมื่อกล่าวถึง รร.พธ.พธ.ทร. แล้ว เชื่อว่าทหารเหล่าพลาธิการทุกท่านคงจะรู้จักกันดีในฐานะที่เป็นสถานศึกษาซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรในสายงานพลาธิการที่มีคุณภาพให้แก่ ทร. แต่ รร.พธ.ฯ ยังมีสถานภาพในอีกแง่มุมหนึ่งที่หลายท่านอาจยังไม่รู้จักก็คือ การเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง แห่งหนึ่งของ ทร.  ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บัญญัติไว้ว่า กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น อาจจัดการศึกษาเฉพาะทางตามความต้องการและความชำนาญของหน่วยงานนั้นได้  โดยคำนึงถึงนโยบายและมาตรฐานการศึกษาของชาติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”   ซึ่งกฎกระทรวงว่าด้วยการศึกษาเฉพาะทาง พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมไว้ โดยมีใจความที่สำคัญคือ  สถานศึกษาต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพภายใน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก
  • รร.พธฯได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่ดังกล่าวและได้พยายามจัดรูปแบบการศึกษาของนรจ.ให้มีลักษณะเฉพาะที่คำนึงถึงทั้งสองด้าน คือทั้งด้านความต้องการกำลังพลของกองทัพ และด้านมาตรฐานการศึกษาของชาติ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติที่ผ่านมายังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานและการบรรลุเป้าหมายอยู่หลายประการ ทั้งด้านองค์วัตถุและองค์บุคคล ซึ่งเป็นปัญหาที่สถานศึกษาทางทหารหลายแห่งล้วนประสบอยู่เช่นเดียวกัน ดังนั้น เพื่อสะท้อนภาพให้ทุกท่านได้เห็นถึงปัญหาและการยอมรับของบุคคลภายนอกที่มีต่อสถานศึกษาของทหารในบางแง่มุม จึงใคร่ขอยกข้อคิดเห็นและมุมมองของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้กล่าวถึงสถานศึกษาของทหารเอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
  • การศึกษาเฉพาะทางของทหารนั้น ค่อนข้างถูกละเลย ใน 3 เหล่าทัพมีโรงเรียนในสังกัดอยู่ถึง 70 กว่าแห่ง แต่ยังขาดการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐ ครูทหารยังไม่ได้รับการพัฒนาที่ต่อเนื่อง มีครูวนเวียนเข้ามาทำหน้าที่สอนแบบไม่ต่อเนื่อง ขาดความตรงเฉพาะด้าน วุฒิการศึกษาไม่ตรง มีแต่ความชำนาญ มาโดยตำแหน่ง มีปัญหาการเทียบโอน ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะทางจากสถาบันทหารยังขาดโอกาสทางการศึกษา ไปศึกษาต่อไม่ได้ ถ้าไป ต้องลดไปใช้วุฒิที่ต่ำกว่า ทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษา
  • จากข้อคิดเห็นดังกล่าว หากเราพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมแล้ว ก็จะเห็นว่ามีความจริงอยู่ค่อนข้างมาก ข้อคิดเห็นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยบอกกล่าวได้ว่า ในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาอบรมในสายวิทยาการพลาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาของ นรจ.ซึ่งจะเป็นกำลังพลระดับนายทหารประทวนหลักของเหล่าทหารพลาธิการต่อไปนั้น หากจะปล่อยให้ รร.พธ.ฯ เป็นผู้รับภาระในการ สร้างและพัฒนาคนให้ได้ตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นโดยหน่วยงานพลเรือนแต่เพียงลำพังแล้ว ก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ
  • ดังนั้น เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย รร.พธ.ฯ จึงต้องการความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกเราชาวพลาธิการทุกคนที่จะเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทางการศึกษา โดยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือและร่วมให้การสนับสนุน ทั้งด้านกำลังกาย กำลังความคิด กำลังสติปัญญา กำลังทรัพย์ (หากอยู่ในวิสัย) หรือแม้แต่เพียงกำลังใจ  ซึ่งเรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะหากเราได้พิจารณาดูองค์กรหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จอยู่ในขณะนี้แล้วจะพบว่า องค์กรเหล่านี้แม้ว่าในอดีตอาจจะเคยทุ่มเทในด้านองค์วัตถุและเทคโนโลยีกันอย่างมากมาย แต่ปัจจุบันต่างก็ได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทุนมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะองค์กรเหล่านี้ตระหนักดีว่า คุณภาพของคนและองค์ความรู้จะเป็นเครื่องชี้นำถึงอนาคตและความอยู่รอดขององค์กร
หากกล่าวในประเด็นนี้แล้ว ก็น่าปลื้มใจอยู่ว่า บรรพบุรุษทหารเรือของเราได้มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้มาตั้งแต่ในอดีตแล้วเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากคำสอนของคุณครูหลายท่านที่ย้ำว่า เหล็กในคน สำคัญกว่าเหล็กในเรือ พวกเราทุกคนจึงควรที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของท่านเหล่านั้นมิใช่หรือ



ข้างบนนี้คือบทความที่เผยแพร่ในข่าวสาร พธ.ทร.เมื่อปีงบประมาณ 51 ซึ่งผมได้รับมอบหมายจาก น.อ. สุรวิทย์ อาษานอก ผอ.รร.พธ.ฯ ในขณะน้ัน ให้เขียนบทความเกี่ยวกับบทบาทของ รร.พธ.ฯ ในฐานะสถานศึกษาที่จัดการศึกษาเฉพาะทาง ซึ่งได้เคยเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ รร.พธ.ฯ แล้วเช่นกัน แต่ปัจจุบันได้เอาออกไปแล้ว ผมไปเจอโดยบังเอิญจากการ Search Google ค้นหาชื่อตัวเอง เลยคิดว่าน่าจะนำมาเก็บไว้ให้ดูกันต่อไป ซึ่งแม้จะไม่ใช่บทความที่ให้ข้อมูลด้านการบริหารจัดการศึกษามากนัก เพราะจุดประสงค์หลักคือการบอกกล่าวเรียกร้องความสนใจและความร่วมมือจากชาว พธ.ทุกคนให้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือ รร.พธ.ฯ ด้านการศึกษาในวันคล้ายวันสถาปนา รร.พธ.ฯ แต่อย่างน้อยมันก็สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงบางประการของความเป็นอยู่และเป็นไปในแวดวงการศึกษาของ พธ.ทร.ที่ยังคงรอการแก้ไขและปรับปรุงอยู่ 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น